ความเชื่อเกี่ยวพันกับชีวิต น้ำและธรรมชาติ ของ นาค

นาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ จึงปรากฏความเชื่อเรื่องนาคที่เกี่ยวกับน้ำไว้ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช

ที่ปราสาทพนมรุ้ง คูเมืองที่เป็นสระน้ำ 4 ด้าน รอบปราสาทและมี พญานาค อยู่ด้วย ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณ ดังนั้น นาคจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำ เช่น การสร้างศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ นาคที่ราวบันได จึงมี พญานาค ซึ่งตามความเป็นจริง (ความเชื่อ) การสร้างต้องสร้างกลางน้ำ เพื่อให้ดูเหมือนว่าศาสนสถานนั้นลอยอยู่เหนือน้ำ แต่ก็ไม่ต้องสร้างจริงๆ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ พญานาค ไว้ เช่น ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

แม้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด เช่นของคนนักษัตรปีมะโรง ที่มีความหมายถึง ความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ที่มี พญานาค เป็นสัญลักษณ์

นาคให้น้ำ

โขนเรือ (หัวเรือ) อเนกชาติภุชงค์ ซึ่งทำเป็นรูปหัวพญานาค

ด้วยความที่นาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ ดังนั้น คำเสี่ยงทายในแต่ละปีที่จะทำนายถึงปริมาณของน้ำและฝนที่จะตกในแต่ละปีเพื่อใช้ในการเกษตร จึงเรียกว่า "นาคให้น้ำ" จำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า "นาคให้น้ำ 1 ตัว" แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น "มีนาคให้น้ำ 7 ตัว" จะวัดกลับกันกับจำนวนนาค ก็คือที่น้ำหายไป เกิดความแห้งแล้งนั้นก็เพราะ พญานาคเกี่ยงกันให้น้ำ แต่ละตัวจึงกลืนน้ำไว้ในท้องไม่ยอมพ่นน้ำลงมา ซึ่งคำทำนายเรื่องนาคให้น้ำนี้ จะปรากฏเห็นได้ชัดที่สุด คือ ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพืชมงคลของแต่ละปี